Monday, September 26, 2011

เจแบบไทย VS. เจแบบเทศ


เข้าสู่ช่วงเทศกาลเจอีกครั้ง ดูเหมือนว่านับวันความตื่นตัวในเรื่องการกินเจจะมีมากขึ้น โดยเฉพาะในหมู่คนทำงานและวัยรุ่น นอกจากนี้ก็ยังมีสื่อที่ให้ความสนใจในการทำข่าว มีรายการแนะนำเมนูเจ และร้านอาหารเจกันอย่างคึกคัก แม้แต่ผู้ผลิตและผู้ประกอบการ อย่างร้านสะดวกซื้อก็กระโจนเข้าสู่เทศกาลเจเช่นกัน ซึ่งเดี๋ยวนี้ได้มีการพัฒนารสชาติอาหารเจ และเมนูให้มีความหลากหลาย และไม่น่าเบื่ออีกด้วย การกินเจจึงกลายเป็นเรื่องไม่ยาก สนุกที่ได้ลองอะไรที่หลากหลาย


การกินเจบ้านเรานั้น ได้รับอิทธิพลมาจากความเชื่อทางพุทธศาสนานิกายมหายาน ดังนั้น การกินเจไม่ใช่เป็นเพียงแค่การไม่รับประทานเนื้อสัตว์ หรือของที่มีกลิ่นฉุนอย่างกระเทียม หัวหอมเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึง การดำรงตนอยู่ในศีลในธรรม เพื่อความบริสุทธิ์ทั้งกาย วาจา ใจ

ส่วนเจแบบฝรั่งนั้น จะเน้นในเรื่องสุขภาพเป็นหลัก และเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่แค่ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง เหมือนเทศกาลกินเจแบบบ้านเรา มีการแบ่งคนกลุ่มนี้ออกเป็นหลายประเภทคือ

1. Vegan เป็นกลุ่มที่ไม่แตะต้องเนื้อสัตว์ทุกประเภท รวมถึงไข่ ผลิตภัณฑ์จากนม ไม่ว่าจะเป็น ชีส เนย โยเกิร์ต บางคนที่เคร่งมาก ก็จะไม่ใช้น้ำผึ้งด้วย นอกจากนี้ พวกเขาก็จะไม่ใช้สินค้าที่ทำมาจากสัตว์ เช่น หนังและขนสัตว์

2. Lacto-vegetarians ไม่รับประทานเนื้อสัตว์และไข่ แต่ยังบริโภคผลิตภัณฑ์จากนม ซึ่งพวกเขาอาจจะใช้ หรือไม่ใช้ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่นอกเหนือจากอาหารก็ได้

3. Lacto-ovo vegetarians กลุ่มนี้จะแค่งดเนื้อสัตว์อย่างเดียว แต่ยังบริโภคพวกไข่และผลิตภัณฑ์จากนม เป็นกลุ่มที่มีมากที่สุด เพราะไม่ค่อยเคร่ง

4. Fruitarians กลุ่มนี้จะรับประทานแต่ผลไม้ เมล็ดธัญพืช ถั่ว และพืชผลอื่นๆ ที่จะไม่เป็นอันตรายแก่ต้นไม้นั้น หรือต้องไม่เป็นพืชกินหัว อย่างแครอท เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ยังอนุโลมให้บริโภคพืชที่ในทางพฤษศาสตร์ถูกจัดอยู่ในกลุ่มผลไม้เช่น มะเขือเทศ มะเขือม่วง zucchini และ อาโวคาโด

5. Raw vegan/Raw food diet หมายถึงการรับประทานผัก ผลไม้สด และคงความเป็นธรรมชาติมากที่สุด โดยที่ไม่ผ่านกระบวนการการแปรรูป หรือปรุงแต่งด้วยสารเคมี หรือถ้านำมาทำอาหาร จะต้องเป็นไปอย่างง่ายๆ และต้องผ่านความร้อนไม่เกิน 115 องศาฟาเรนต์ไฮต์ หรือ 46 องศาเซลเซียส เพราะเชื่อกันว่าอาหารที่ผ่านความร้อนมากกว่าที่กำหนดนั้น สารอาหารจะถูกทำลายเป็นส่วนใหญ่ และกลับเป็นโทษต่อร่างกายด้วย

6. Macrobiotic เป็นชื่อที่เราค่อนข้างคุ้นเคยมากกว่าชื่ออื่น เพราะเป็นการคิดค้น พัฒนามาจากญี่ปุ่นเพื่อสุขภาพและเพื่อการรักษาเป็นหลัก โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งหรือผู้ป่วยมะเร็ง อาหารที่เน้นจะเป็นพวกมีไฟเบอร์สูง ไขมันต่ำ - ข้าวกล้อง ข้าวบาร์เลย์ ลูกเดือย ถั่วเหลือง - ผัก ผลไม้ ซุป มีการนำผลิตภัณฑ์จากเอเชียมาร่วมด้วย เช่น หัวไชเท้า สาหร่ายทะเล miso และรับประทานปลาบ้าง แต่สิ่งที่ต้องละเว้นคือ น้ำตาลทรายและน้ำมันสกัดที่ผ่านกระบวนการต่างๆ

7. Semi-Vegetatian เป็นพวกลูกครึ่งที่งดบริโภคพวกเนื้อแดง แต่ยังคงรับประทานสัตว์เล็ก เช่น Pesce-vegetarians ที่ยังไม่ละเนื้อปลา, Pollo-vegetarians บริโภคสัตว์ปีกเช่นไก่ เป็ด ไก่ turkey แต่ละเนื้อแดงและหมู ส่วน Flexitarians คือ กลุ่มที่ยังกล้าๆ กลัวๆ ที่แม้จะรับประทานผักเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็อาจมีข้อยกเว้นบางอย่างในบางครั้ง ซึ่งกลุ่ม Semi-Vegetatian เหล่านี้ มีแนวโน้มที่จะผันตัวเองไปอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่กล่าวมาแล้วได้อย่างไม่ยากนัก

การเริ่มต้นทำสิ่งดีให้ตัวเอง อาจจะต้องแลกกับความสะดวกสบาย และความคุ้นชินกับรสชาติในแบบที่เราชอบ แต่นี่อาจจะเป็นผลดีในระยะยาวต่อร่างกาย และจิตใจด้วยก็ได้ ทุกอย่างอยู่ที่ใจและสภาพความพร้อม ขอเป็นกำลังใจให้สำหรับคนที่เพิ่งเริ่ม ไม่ว่าจะเป็นเจโดยแท้ หรือแบบกึ่งๆ ไม่ว่าจะเป็นแบบจัดเต็มในช่วงสั้นๆ หรือทำตลอดไป ก็ขออนุโมทนาและอิ่มบุญกันถ้วนหน้าค่ะ

Source:

No comments:

Post a Comment